เคยไหม? เวลาเดินทางไปฮ่องกงหรือสิงคโปร์ แล้วเห็นคนของเขาใช้ชีวิตที่ทันสมัย เวลาซื้อของหรือขึ้นรถไฟฟ้าก็จ่ายด้วยบัตร(เดบิต) ชีวิตง๊ายง่าย… คุณรู้ไหมเมืองไทยเราก็กำลังจะเป็นอย่างนั้น ด้วยนโยบาย National E-Payment ที่ผ่านการเห็นชอบของรํฐบาลแล้วตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2558 (อ้างอิง thaigov.go.th)
Cashless Society กำลังจะเกิดขึ้น
ปัจจุบัน “เงินสด” เป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของธุรกรรมทางการเงินของไทย ซึ่งความเป็นจริงมีต้นทุนซ่อนเร้นอยู่จำนวนมาก เช่น ร้านค้าเมื่อรับชำระเป็นเงินสดแล้วก็เป็นช่องทางให้พนักงานทุจริตได้ (แอบเอาเงินใส่กระเป๋า) หรือเมื่อนำเงินไปส่งธนาคาร ธนาคารก็มีต้นทุนจ้างพนักงานคอยรับเงิน นับเงิน ตรวจแบงค์ปลอม เก็บและนำส่งกลับจากสาขา เคยสงสัยไหมว่า “ค่าขนเงินสดด้วยรถนิรภัย” ใครเป็นคนจ่าย? เมื่อขนกลับมายังต้องคัดทำลายแบงค์เก่า และพิมพ์แบงค์ใหม่อีก ไม่งั้นจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคได้นะ ใครกันหนอ จ่ายค่าใช้จ่ายเหล่านี้ คำตอบคือ พวกเราทุกคนนั่นแหล่ะ เพราะอย่างนี้เองที่ทุกฝ่ายอยากผลักดันให้เราปรับเป็น Cashless Society คือสังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง นั่นคือ ปรับไปใช้บัตรเครดิต, บัตรเดบิต, และแอปบนมือถือ ให้ทำธุรกรรมทางการเงินได้ทดแทนเงินสด
ภาครัฐเอาจริงผ่าน 5 โครงการหลัก
ความชัดเจนของภาครัฐมีมาอย่างต่อเนื่องผ่าน 5 โครงการ อันประกอบด้วย 1. Any ID ที่ให้ประชาชนใช้บัตรประชาชนผูกกับบัญชีธนาคารและทำธุรกรรมได้ หรือผูกกับเบอร์โทรศัพท์และอีเมล์ก็ได้ 2. เพิ่มเครื่องรับบัตร EDC ตามร้านค้าต่างๆ จาก 3 แสนเครื่องเป็น 2 ล้านเครื่องภายในปี พ.ศ. 2560 (ซึ่งจะเริ่มล็อตแรกตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2559 นี้แล้ว) 3. ระบบภาษีอิเล็คโทรนิกส์ของกรมสรรพากร ที่จะส่งเสริม และ/หรือ บังคับ ให้ทุกธุรกิจต้องมีทางเลือกการรับชำระแบบ e-Payment และ ส่งข้อมูลโดยตรงให้กับกรมฯ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของงานเอกสารไปได้มาก 4. บังคับการรับชำระของภาครัฐด้วย e-Payment แทนเงินสด เช่น การชำระค่าใบขับขี่ ที่อาจไม่อนุญาตให้จ่ายด้วยเงินสดเลย แต่ต้องจ่ายผ่านบัตร National Debit Card เท่านั้น 5. โครงการประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้และเข้าใจ และส่งเสริมให้เกิดการใช้งานจริง เช่น รณรงค์ผ่านการชิงโชคเมื่อมีการชำระด้วย e-Payment ต่างๆ ทั้งหมดนี้กำลังเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่อยุ่ในขั้นกำหนดรายละเอียดและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และประชาชนหรือคนค้าขายจะเริ่มเห็นผลได้ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป
Fintech หรือ บัตร Debit Card อะไรจะมาก่อนกัน
เมื่อเงินสดจะถูก(บังคับ)ให้ใช้น้อยลง แล้วอะไรกันแน่ที่จะมาแทน ถ้าคุณไม่ได้ติดตามข่าวสารก็คงจะคิดว่าต้องเป็นบัตรเครดิตแน่ๆเลย … “ผิด อย่างยิ่งเลยครับ” เพราะบัตรเครดิตนั้นก็มีต้นทุนแอบแฝงเช่นกัน เพราะจะมีค่าบริการส่วนหนึ่งที่ถูกหักหัวคิวไปให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านบัตรเครดิต ปีๆหนึ่ง หลายพันล้านบาท
ภาครัฐและธนาคารจึงกำลังผลักดันไปสู่ “บัตรเดบิต” ซึ่งคาดว่าจะประกาศความร่วมมือเรื่อง National Debit Card กันเร็วๆนี้ และเปิดกว้างให้บัตรเดบิตนี้เชื่อมโยงการชำระต่างๆเข้าด้วยกัน เช่น ค่าสาธารณูปโภค, ค่าเดินทาง, และร้านค้าทั่วไป เรียกได้ว่า “บัตรเดียวเอาอยู่” แม้แต่เทคโนโลยีที่ถูกเลือกใช้ที่เป็น Chip-and-Pin ก็เป็นส่วนที่ช่วยป้องกันปัญหาการทุจริต หรือ การลักขโมยได้ด้วย นำไปสู่ค่าบริการที่จะถูกลงอีก
อะไรก็ดีไปหมด แต่เดี๋ยวก่อน… Fintech ก็จะมาเบียดเช่นกัน ทั้งธนาคารและ Fintech Startup ก็กำลังแข่งกัน (หรือร่วมมือกัน) ออกแอป e-Wallet ที่ใช้โทรศัพท์แทนกระเป๋าเงินไปเลย เรียกได้ว่ากระโดดข้ามบัตรเดบิตไปอีกขั้นเลย จะโอนเงินก็ง่าย จะจ่ายก็แค่เอามาทาบที่เครื่องอ่าน NFC ก็ทำได้
เอาเป็นว่า ถ้าเด็กที่เกิดมาหลังจากปี พ.ศ. 2562 อาจแทบไม่เคยใช้เงินสดกันเลยก็ได้ และคงมาถามพ่อแม่ว่า “เงินสดคืออะไรคับ”
E-Payment เปลี่ยนชีวิตคุณในปีนี้แน่ๆ
กลางปี พ.ศ.2559 จะเห็นร้านค้าจำนวนมากมีเครื่องรับชำระเงิน EDC และประชาชนจะถูกรณรงค์ให้มีบัตรเดบิต และได้สิทธิประโยชน์ต่างๆเมื่อชำระเงินด้วยบัตรเดบิตหรือบัตรประชาชน ส่วนภาครัฐเองก็มีช่องทางการช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ได้โดยตรง โดยโอนเงินเข้าไปที่บัตรประชาชน เช่น เมื่อมีภัยแล้งก็โอนเงินให้ชาวนาได้โดยตรง (ชาวนาไม่ต้องมีบัญชีธนาคารก็ได้) ซึ่งจะช่วยขจัดการทุจริตของเส้นทางการจ่ายไปได้ด้วย หรือ คนทำงานเมื่อขอคืนภาษีก็จะได้รับเงินมาที่บัตรประชาชน ตามโครงการ Any ID เช่นกัน
คนเหล่านี้เลือกได้ที่จะโอนเงินออกจากบัตรทันที หรือเก็บเงินไว้แล้วนำไปใช้จ่ายตามร้านค้าต่างๆ ที่มีเครื่อง EDC กว่า 2 ล้านเครื่องทั่วประเทศ ไม่ว่าจะไปซื้อปุ๋ย ซื้อของร้านโชว์ห่วย หรือซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในห้างก็ตาม และธุรกรรมทั้งหมดก็ถูกส่งโดยอัตโนมัติเป็นข้อมูลอิเล็กโทรนิกส์ไปที่กรมสรรพากรโดยตรง บริษัทห้างร้านต่างๆไม่ต้องส่งเอกสารที่เป็นกระดาษให้ยุ่งยากและสิ้นเปลือง หรือจะนำเงินนั้นมาจ่ายเมื่อไปธุรกรรมกับภาครัฐก็ได้ เช่น เมื่อไปขอใบรับรองบริษัท หรือธุรกรรมอื่นใด
ร้านค้าของคุณพร้อมหรือยัง
คลื่นลม National E-Payment จะพัดมาแรงและเร็วมากๆ ถ้าคุณทำร้านค้าอยู่ คุณต้องเตรียมตัวให้พร้อม อย่างน้อยก็ควรติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ ทีมงานแรงจี้ก็จะช่วยร้านค้าติดตามเรื่องนี้ และนำมาเล่านำมาแชร์อย่างเกาะติด ติดตามพวกเราได้ที่เว็บไซต์ http://www.rangypos.com เฟซบุ๊ก http://www.facebook.com/rangypos หรือถ้ามีคำถามอะไรก็สอบถามทีมงานแรงจี้ได้โดยตรงที่ tinnakorn@rangypos.com ทีมแรงจี้ยินดีช่วยเหลือครับ